วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เนกขัมมบารมี

พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เป็น อโยฆรกุมาร

พระเจ้าพรหมทัต ครองกรุงพาราณสี แคว้นกาสี พระอัครมเหสีของพระองค์ ได้เคยมีเวรกับหญิงคนหนึ่ง ซึ่งหญิงนั้นผูกเวรในพระนางไว้ว่า จะไปเกิดในชาติใดภพใดก็ตาม ขอให้ได้กินโอรสของพระนางทุกชาติไป และหญิงคนนั้นก็ไปเกิดเป็นนางยักษิณี บริวารท้าวเวสสุวัน พอพระนางเธอประสูติพระราชโอรส ก็ถูกนางยักษิณีจับไปกินเสีย ในคราวที่พระนางเธอทรงตั้งครรภ์ครั้งที่ ๓ พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประชาชนช่วยกันหาอุบายป้องกัน

มีชายคนหนึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ธรรมดานางยักษิณีนั้น กลัวใบตาล ควรจะนำเอาใบตาลมาผูกไว้ที่พระหัตถ์หรือพระบาทของพระเทวี ชายอีกคนหนึ่งกราบทูลว่า ธรรมดาว่ายักษิณีนั้นกลัวเรือนเหล็ก พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนา ตำหนักเหล็กขึ้นในพระราชฐาน โปรดให้พะอัครมเหสีเสด็จเข้าประทับ ณ ตำหนักนั้น เพื่อป้องกันมิให้ยักษิณีมาจับพระโอรสกินเช่นเคย พระเทวีประสูติพระราชโอรสในตำหนักนั้น โดยสวัสดี ฝ่ายนางยักษิณี ถึงเวรตักน้ำไปถวายเท้าเวสสุวัณ ต้องไปเข้าเวร เลยไปตามเสียในคราวนั้น พระราชทานพระนามพระราชโอรสว่า อโยฆรกุมาร โปรดให้ประทับอยู่ในตำหนักเหล็กนั้นสิ้นกาลนาน

เมื่ออโยฆรกุมารได้ครองสมบัติ เสด็จเลียบพระนคร ได้ทอดพระเนตรเห็นส่วนต่าง ๆ ของพระนคร ที่ประดับตกแต่งไว้อย่างวิจิตรบรรจง ตรัสถามอำมาตย์ว่า เรามีความผิดอะไรหรือ พระชนกจึงโปรดให้ขังเราเสียตั้ง ๑๖ ปี เมื่อได้ทรงทราบแล้ว จึงทรงพระดำริขึ้นว่า เราอยู่ในพระครรภ์ ๑๐ เดือนก็เหมือนอยู่ในอุสสุทนรก แม้พ้นจากเรือนเหล็กแล้ว ก็มิใช่ว่าจะไม่ต้องไข้ต้องเจ็บต้องตาย ขึ้นชื่อว่า พญามัจจุราชแล้ว ไม่มีใครจะเอาชนะได้เลย ถ้าขืนครองราชย์สมบัติ เราก็จะออกบวชได้ยาก จำจะต้องหาอุบายออกบวชให้ได้ เมื่อได้โอกาส จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานอนุญาต ออกบวชว่า

๑. สัตว์ผู้ถือปฏิสนธิทุกจำนวน เมื่อออกจากท้องแม่แล้ว มีแต่จะรุดหน้าไปหาความแก่ความเจ็บความตาย สัตว์ทั้งมวลล้วนมีความตายเป็นที่สุด นรชนทั้งหลาย จะยกทัพไปต่อรบกับความแก่-เจ็บ-ตายนั้นไม่ได้เป็นอันขาด นรชาติที่ไม่ตายนั้นไม่มีเลย เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๒. พระราชาธิบดี ผู้เป็นอิสระแห่งแคว้นทั้งหลาย ย่อมจะข่มขี่ศัตรูผู้มีจาตุรงคเสนาอันน่าสะพรึงกลัวได้โดยง่าย แต่พระราชาธิบดีพระองค์นั้น ก็ไม่สามารถจะเอาชนะพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๓. พระราชาธิบดี ถูกล้อมด้วยกองช้าง กองม้า กองรถ และกองราบ ก็ยังสามารถปลีกตนให้พ้นจากเงื้อมมือข้าศึกได้ แต่พระราชาธิบดีองค์นั้น ก็ไม่สามารถจะตีหักออกไปให้พ้นเงื้อมมือพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๔. พระราชาธิบดี ผู้ทรงศักดาสามารถ ย่อมจะนำจาตุรงคเสนาทั้ง ๔ เหล่า เข้าหักค่ายทำลายพระนครได้ ทำลายประชาชนได้ แต่พระราชาธิบดีองค์นั้น ก็ไม่สามารถจะทำลายพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๕. ช้างสารที่ซับมัน ไหลเยิ้มอยู่ที่กระพอง ย่อมย่ำยีนครทั้งหลายได้ ย่อมเข่นฆ่าประชาชนได้ แต่ช้างสารนั้นก็ไม่สามารถจะย่ำยีพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๖. นายขมังธนู ฝีมือแม่น ได้ฝึกปรือไว้เป็นอย่างดี มีไหวพริบดี รู้วิธียิงได้แม่นยำไม่ผิดพลาด เปรียบด้วยสายฟ้าแลบ แต่ก็ไม่สามารถจะต้อต้านพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๗. สระทั้งหลายก็แห้งหมดไป แผ่นดินใหญ่กับทั้งเขาหินล้วนพร้อมทั้งป่าไม้ ก็ย่อมเสื่อมไปได้ แม้โลกธาตุเหล่านั้น จะตั้งอยู่ยาวนาน สักเท่าไหร่ก็ตามเถิด ในที่สุดก็ต้องเสื่อมสิ้นไป เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๘. ผ้านุ่งคนขี้เมา ย่อมหลุดลุ่ยลงได้ง่าย ต้นไม้ใกล้ฝั่งก็ไม่ยั่งยืน ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายทั้งชายทั้งหญิง ก็ไม่ยั่งยืนเช่นกัน เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๙. ผลไม้ทั้งหลายที่สุกแล้ว ย่อมหล่นจากต้นตกลงยังพื้นดินฉันใด คนทั้งหลายทั้งชายทั้งหญิง ทั้งหนุ่มทั้งแก่ก็ต้องตายฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๐. พระจันทร์ผู้เป็นราชาแห่งดวงดาวทั้งหลาย เป็นเช่นใด วัยทั้งหลายหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะวัยต้นพ้นไปก็เป็นอันพ้นไปถึงวัยแก่แล้ว ก็จะหาความสนุกสนานมิได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๑. ยักษ์ทั้งหลายผู้มีมหิทธิฤทธิ์ก็ดี ปิศาจก็ดี เปรตก็ดี กำเริบแล้ว เข้าแทรกตามลมหายใจได้ แต่ก็ไม่สามารถจะแทรกสิงพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๒. คนทั้งหลายย่อมเซ่นสรวง บูชา บนบาน พวกยักษ์หรือปิศาจ หรือเปรต ซึ่งกำเริบฤทธิ์ให้อดโทษได้ ให้ยินดีได้ด้วยพลีกรรม แต่คนทั้งหลายจะบวงสรวงพญามัจจุราชได้ ด้วยพลีกรรมมิได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๓. พระราชาทั้งหลาย ทรงทราบโทษผิดโดยแจ้งชัดแล้วย่อมโปรดให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้เป็นขบถต่อพระองค์บ้าง ต่อราชสมบัติบ้าง หรือคนที่เป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้านให้เดือดร้อนบ้าง ตามโทษานุโทษได้ แต่พระราชาทั้งหลายนั้นไมสามารถจะลงอาญาแก่พญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๔. ผู้ผิดฐานประทุษร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินก็ดี ฐานประทุษร้ายต่อราชสมบัติก็ดี ฐานปล้นสะดมก็ดี ย่อมได้ประกาศนิรโทษกรรม หรือพ้นโทษได้ด้วยหลักฐานพยาน หรือพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยโทษ ด้วยพระมหากรุณาได้ แต่หาให้พญามัจจุราชยกโทษให้เช่นนั้นไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๕. พญามัจจุราชมิได้เกรงใจใครว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคนมั่งคั่ง เป็นคนมีกำลัง มีเดช มีอานุภาพมาก ย่อมย่ำยีทั้งหมด เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๖. ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ย่อมเคี้ยวกินสัตว์อื่นให้สะดุ้งด้วยพลการได้ แต่ไมสามารถจะเคี้ยวกินพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๗. นักเล่นกลทั้งหลาย เมื่อกระทำกลมารยาทท่ามกลางสนาม ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่จริงให้เห็นเป็นจริง ลวงตาประชาชนให้หลงเชื่อได้ แต่ไม่สามารถจะลวงพญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๘. อสรพิษทั้งหลาย มีพิษร้ายโกรธแล้วย่อมฉกขบกัดพ่นพิษใส่ ทำให้คนทั้งหลายที่ถูกขบกัดตายได้ แต่ไม่สามารถจะพ่นพิษใส่พญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๑๙. อสรพิษฉกขบกัดแล้ว หมองูอาจถอนพิษได้ แต่หมองูไม่อาจถอนพิษพญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๒๐. นายแพทย์ผู้มีชื่อเสียง เช่น หมอธรรมมันตรี หมอเวตตรุณ หมอโภชา สามารถปรุงยาถอนพิษนาคได้ แต่แพทย์เหล่านั้นก็ต้องนอนตาย กลับพาเอาวิชาตายไปเสียด้วย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

๒๑. วิชาธร หรือเพทยาธรทั้งหลาย เมื่อรายมนต์ชื่อ โฆรมนต์ ย่อมหายตัวไปอยู่ท่ามกลางข้าศึกได้โดยข้าศึกไม่เห็นตัว ด้วยโอสถทั้งหลาย แต่ไม่สามารถจะทำให้พญามัจจุราชไม่เห็นได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว

หิ ธมฺโฮ อธมฺโม อุโภ สมวิปากิโน

อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคติ

ธรรมคือบุญ อธรรมคือบาป มีผลไม่เสมอกัน อธรรมนำไปนรก ธรรมนำปสุคติฯ

ครั้นพระบรมโพธิสัตว์ ทรงแสดงธรรมถวายพระบรมชนกนาถ เช่นนี้แล้ว กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ขอราชสมบัติจงเป็นของพระบรมชนกเถิด ข้าพระพุทธเจ้าไม่ต้องการราชสมบัตินั้น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย รอวันรอคืนติดตามข้าพระพุทธเจ้าอยู่ทุกขณะ แม้กำลังกราบทูลอยู่เดี๋ยวนี้ก็ติดตามมาทุกระยะ ขอให้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงเสด็จอยู่ในสุขเถิด ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมลาพระชนก พระชนนี ออกบวชแล้ว พระบรมโพธิสัตว์ก็เสด็จออกผนวช เปรียบเหมือนช้างซับมัน สลัดตัดเสียซึ่งโซ่ตรวนที่ตกปลอกไว้ แล่นไปในป่าฉะนั้น หรือดุจสีหะโปดกทำลายกรงทรงออกไปฉะนั้น

พระเจ้าพรมทัตผู้พระบรมชนกนาถ ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ทรงพระดำริว่า เราจะอยู่ไปทำไม ราชสมบัติก็ไม่มีประโยชน์แก่เราแล้ว จึงทรงสละราชสมบัติออกผนวช พร้อมกับพระราชโอรสในคราวนั้น มีบริษัทออกบวชตามเสด็จมากมาย ประมาณถึง ๑๒ โยชน์โดยคณา ฝ่ายเท้าสักรินทรเทวราชทรงทราบเช่นนั้น จึงโปรดให้วิสสุกรรมเทพบุตรไปเนรมิตบรรณศาลา ป่าหิมพานต์ พระราชทานแก่ราชฤๅษีเหล่านั้น พระบรมโพธิสัตว์พร้อมด้วยพระบรมชนกนาถและราชบริษัททั้งหลาย เสด็จออกทรงเพศเป็นฤๅษี อาศัยอยู่ บรรณศาลานั้น ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ จนตราบเท่าตลอดชีวิต

การเสด็จออกผนวชของพระบรมโพธิสัตว์อโยฆรกุมารนี้ จัดเป็น เนกขัมมบารมี มีนัยดังบรรยายมาฉะนี้

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศีลปรมัตถบารมี

พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น สังขปาลนาคราช

พระเจ้ามคธ เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระโอรส พระชนกทรงโปรดปรานมอบสมบัติให้ครอบครอง แล้วพระชนกก็เสด็จออกผนวชประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสวนหลวงแห่งนครนั้น พระราชาผู้เป็นพระราชโอรส เสด็จออกไปทรงอุปฐาก วันละ ๓ เวลาทุกวัน มีประชาชนนับถือบูชาราชฤาษีนั้นมากมาย ทรงปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงทรงเสด็จหนีออกจากพระนคร ทรงสร้างบรรณศาลาอยู่ที่ภูเขาวันทกะ ซึ่งตั้งอยู่ตรงน้ำอ้อมแห่งแม่น้ำกรรณเวณ แคว้นมหิสกราษฎร์ ที่ตรงนั้นเป็นปากถ้ำแห่งนาคพิภพด้วย

ฝ่ายสังขปาลนาคราช ทรงเบื่อหน่ายสมบัติในนาคพิภพได้ปลีกตนออกมาจำศีลอยู่ ณ บริเวณนั้น ได้พบเห็นพระราชฤๅษี ได้ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่ง นาคราชพาบริวารมาฟังธรรมของราชฤๅษีอยู่ ฝ่ายพระเจ้าทุยโยธนราช ผู้ราชบุตรได้ออกติดตามหา จนกระทั่งมาถึงบรรณศาลา ได้โอกาสจึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระราชฤๅษี ผู้พระบรมชนกนาถ เมื่อนาคราชได้เห็นพระราชาเสด็จมา จึงรีบปลีกตัวหนีไป เมื่อพระราชโอรสทูลปราศรับแล้วกราบทูลว่า ผู้ที่เสด็จหลีกไปเมื่อครู่นี้ เป็นพระราชาเมืองไหน เมื่อทรงทราบว่า เป็นนาคราช มาแต่นาคพิภพ ก็พอพระทัยในนาคสมบัติ พอเสด็จกลับถึงพระนคร โปรดให้ตั้งโรงทาน ทรงสมาทานศีล เจริญภาวนา ปรารถนานาคสมบัติ เมื่อเสด็จสรรคาลัยได้ไปอุบัติในพิภพนาคสมพระประสงค์ เป็นพญานาคนามว่า สังขปาลนาคราช

ต่อมา เกิดเบื่อหน่ายต่อความเป็นนาค ปรารถนาเป็นมนุษย์ต่อไปอีก จึงรักษาอุโบสถศีล แต่ไม่สามารถจะทำให้บริบูรณ์ในนาคพิภพนั้น จึงออกจากนาคพิภพมายังแดนมนุษย์ อธิษฐานอุโบสถศีล ตั้งใจว่า ใครต้องการหนังและเนื้อของเราก็เชิญเถิด เราสละแล้ว นอนขดอยู่บนจอมปลวกแห่งหนึ่ง ข้างทางเดิน พอวันแรมค่ำ และขึ้นค่ำก็เสด็จกลับนาคพิภพ

วันหนึ่ง สังขปาลนาคราชโพธิสัตว์มาทรงรักษาอุโบสถศีลอยู่ ที่นั้น พรานหนุ่มเมืองพาราณสี ๑๖ คน ถืออาวุธเครื่องจับสัตว์ครบมือ ได้เห็นพระโพธิสัตว์สังขปาลนาคราช มีสรีระงดงาม ทั้งใหญ่โตมาก หาทางเสี่ยงเข้าจับ เอาหลาวแทงจมูก เอาหอกแทงตามร่างกาย ทำให้อ่อนกำลัง ตัดเถาวัลย์มัดเป็นเปลาะได้ ๘ เปลาะ ช่วยกันเอาคานหามมา ๘ คานด้วยกัน

อาฬารคหบดี ชาวเมืองมิถิลา แคว้นวิเทห์ นำหมู่เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม เดินทางไปค้าขาย ขับมาถึงที่ตรงนั้น ได้เห็นพรานหนุ่มช่วยกันหามงูใหญ่มาเช่นนั้น เกิดความสงสาร ขอร้องให้ปล่อยโดยเอาวัว ๑๖ ตัว ทองทรายประมาณ ๒-๓ ฟายมือ กับฝากเครื่องนุ่งห่มไปให้ภรรยาของพรานเหล่านั้นด้วย เพื่อพญานาคหลุดพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว จึงรีบกลับไปยังนาคพิภพ บำรุงบำเรอท่านด้วยความสุขในนาคพิภพนั้น ท่านอยู่ในนาคพิภพประมาณปีหนึ่งเกิดความเบื่อหน่าย กลับมายังหมู่มนุษย์แล้ว ออกบวชเป็นฤาษีเที่ยวจาริกไปตามบ้านเล็กเมืองน้อย แสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนต่อไป ได้มาพักอยู่ สวนหลวงกรุงพาราณสี พระเจ้าพาราณสีได้ทอดพระเนตรเห็นพระดาบส ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถ โปรดให้พักอยู่ในสวนนั้นต่อไป ได้ตรัสปราศรัยว่า ท่านผู้เจริญ ท่านมีรูปงามยิ่งนัก มีดวงตาแจ่มใส โยมเข้าใจว่า ท่านต้องบวชจากตระกูลใหญ่แน่ ท่านเป็นผู้มีปัญญา ทำไมจึงสละทรัพย์สมบัติออกบวชเสียเล่า พระดาบสถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร บพิตร พระราชสมภารเจ้าอาตมภาพไปเห็นพิภพนาค เห็นวิมานของสังขปาลนาคราชมาด้วยตนเอง เมื่อได้เห็นเช่นนั้นแล้ว ก็ออกบวชด้วยเชื่อว่า ผลของบุญมีอยู่ ตรัสว่า บรรชิตทั้งหลาย ไม่กล่าวคำเท็จ เพราะความรัก ความชัง ความหลง และความกลัว ขอได้โปรดบอกเรื่องนั้นแก่โยมด้วย ถวายพระพรว่า ดูกร มหาบพิตร อาตมาภาพเดินทางไปมาค้าขาย ได้พบพรานหนุ่ม ๑๖ คน จับงูใหญ่ เอาเถาวัลย์มัดเข้าถึง ๘ เปลาะ เอาคานสอดหามกันมาถึง ๘ คน อาตมาภาพรู้สึกขนลุพอง เขาบอกว่าจะเอาไปกิน เนื้อมันอร่อยนัก อาตมภาพจึงขอเอาโค ๑๖ ตัว ทองทรายประมาณ ๒-๓ ฟายมือ กับเครื่องนุ่มห่ม ฝากภรรยาพวกเขาทั้ง ๑๖ คน พอจัดของให้เสร็จ เขาก็ปล่อยทันที เมื่อพญานาคพ้นเครื่องจองจำแล้ว จึงรีบไปยังนาคพิภพพาบริวารมาหาอาตมภาพ ชวนให้ไปยังนาคพิภพ เพื่อจะสนองคุณอาตมภาพที่ได้ช่วยชีวิตได้ อาตมภาพก็ไปตามคำเชิญไปอยู่ประมาณปีหนึ่ง เบื่อเหลือเกิน จึงกลับมายังมนุษย์โลกละสมบัติออกบวชแล้ว จาริกมาถึงนี้ ขอถวายพระพร อาตมภาพได้ถามถึงสมบัติอันมโหฬารว่า ท่านนาคราชได้สมบัตินี้ด้วยอุบายอย่างไร ได้วิมานอันประเสริฐนี้อย่างไร ท่านได้โดยไม่มีเหตุหรือใครน้อมมาให้ท่าน โปรดบอกความนั้นแก่เราด้วย นาคราชตอบว่า ข้าพเจ้าได้เพราะบุญกรรมที่ตนได้ทำไว้ พรตของท่านเป็นอย่างไร พรหมจรรย์ของท่านเป็นอย่างไร นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไรที่ท่านประพฤติดีแล้ว พญาสังขปาลนาคราชตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพระราชาแห่งชนชาวมคธ ชื่อว่า ทุยโยธนะ มีอานุภาพมาก รู้ชัดว่า ชีวิตเป็นของน้อย ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสได้ให้ข้าวและน้ำอันเป็นทานอันไพบูลย์โดยเคารพ วังของข้าพเจ้าเป็นดังบ่อน้ำ สมณพราหมณ์ทั้งหลายก็อิ่มหนำสำราญ ในที่นั้นข้าพเจ้าให้ของหอม เครื่องลูบไล้ ประทีป ยวดยาน ที่พัก ผ้านุ่ง ที่นอน ที่นั่งเป็นทานโดยเคารพ นั่นเป็นพรต เป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น ที่ข้าพเจ้าได้ประพฤติดีแล้ว ข้าพเจ้าได้วิมานอันมีภัตตาหารเพียงพอ มีข้าวน้ำเพียงพอ เพราะวัตรและพรหมจรรย์นั้น ดูกรนาคราช พรานหนุ่มทั้งหลาย มีอานุภาพน้อย มีเดชน้อย ไฉนจึงมาเบียดเบียนท่านผู้มีอานุภาพมาก มีเดชมากได้ เพราะเหตุไร ท่านจึงตกอยู่เงื้อมมือของพรานหนุ่ม ความกลัวมาถึงท่าน หรือว่าพิษของท่านไม่แล่น ท่านจึงต้องถูกมัดไปเช่นนั้น นาคราชตอบว่า ความกลัวก็มิได้มีแก่ข้าพเจ้า พรานหนุ่มเหล่านั้นก็ไม่สามารถทำลายเดชของข้าพเจ้าได้ แต่ว่า ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ที่ท่านประกาศไว้ยากที่จะล่วงได้ วันนั้น ข้าพเจ้ารักษาอุโบสถศีล พรานหนุ่ม ๑๖ คน เขาเป็นพรานมาพบเข้า เขาจับเอาเชือก มัดแทงจมูก ช่วยกันหามข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าต้องอดทนต่อความทุกข์เช่นนั้น เพราะกลัวศีลจะขาด กลัวอุโบสถกรรมกำเริบได้ ข้าพเจ้าบำเพ็ญตบะมิใช่ เพราะเหตุบุตร มิใช่เพราะเหตุแห่งทรัพย์ มิใช่เพราะเหตุแห่งอายุ แต่เพราะข้าพเจ้าปรารถนาจะเกิดกำเนิดในมนุษย์ จึงอุตส่าห์บากบั่นบำเพ็ญตบะถึงเพียงนี้ ดูกรนาคราช ท่านมีนัยต์ตาแดง มีรัศมีแวววาวประดับตกแต่งด้วย ปลงผมและหนวด ชโลมทาจุณจันทร์แดงส่งแสงไปทั่วทิศดุจคนธรรม์ราชาฉะนั้น ท่านเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งเทวฤทธิ์มีอานุภาพมาก พร้อมพรั่งด้วยกามารมณ์ทั้งปวง เพราะเหตุไรมนุษย์โลกจึงประเสริฐกว่านาคพิภพนี้เล่า ท่านอาฬาระ นอกจามนุษย์โลกแล้ว ความบริสุทธิ์หรือความสำรวมย่อมไม่มี ถ้าข้าพเจ้าได้กำเนิดเป็นมนุษย์แล้ว ข้าพเจ้าจักทำที่สุด แห่งชาติชรา และมรณะได้ ข้าพเจ้าอยู่ในสำนักของท่านปีเต็ม ๆ แล้วท่านได้บำรุงบำเรอเราด้วย น้ำบริบูรณ์ ข้าพเจ้าขอลาท่านกลับละ ท่านอาฬาระ บุตรและภรรยาของข้าพเจ้า เป็นความสวัสดี ดูกรนาคราช บุตรสุดที่รักปรนนิบัติบิดามารดาอยู่ในเรือน แม้ด้วยประการใด ท่านบำรุงข้าพเจ้าอยู่ในนาคพิภพนี้ ยังประเสริฐกว่านั้น เพราะจิตของท่านเลื่อมใสในข้าพเจ้า นาคราชบอกว่า แก้วทับทิม อันจะนำทรัพย์สมบัติมาให้ตามประสงค์ของข้าพเจ้ามีอยู่ ท่านจึงถือเอามณีรัตน์อันมโหฬารนั้นไปยังที่อยู่ของตน ได้ทรัพย์แล้วจงเก็บแก้วมณีนั้นไว้

ท่านอาฬารดาบส ถวายพระพรพระเจ้ากรุงพาราณสีว่า ขอถวาย พระพรบพิตรพระราชสมภาร แม้กามคุณของมนุษย์ อาตมภาพก็ได้เห็นแล้ว เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา อาตมภาพเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงออกบวชด้วยศรัทธา ขอถวายพระพรทั้งคนหนุ่มคนแก่ ย่อมมีสรีระร่างกายทุพบภาพล่วงหล่นไป เปรียบเหมือนผลไม้ฉะนั้น อาตมภาพเห็นคุณข้อนี้ว่า สามัญผลเป็นข้อปฏิบัติ อันไม่ผิด ทั้งเป็นคุณประเสริฐ อาตมภาพจึงขอบวช

พระเจ้ากรุงพาราณสี ตรัสว่า ชนเหล่าใดเป็นพหุสูต ค้นคิดเหตุผลได้มาก ชนเหล่านั้นเป็นคนมีปัญญา บุคคลควรคบหาสมาคมด้วยโดยแท้ ท่านอาฬาระ โดยได้ฟังคำของนาคราชและของท่านแล้ว จักทำบุญต่อไป

ท่านอาฬารดาบส ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระราชสมภาร ชนทั้งหลายเป็นพหูสูต ค้นคิดเหตุผลได้มาก คนเหล่านั้น เป็นคนมีปัญญาจริง ๆ เป็นผู้ที่บุคคลทั้งหลาย ควรคบหาสมาคมด้วยอย่างแท้จริง มหาบพิตรได้ทรงสดับเรื่องสังขปาลนาคราช โพธิสัตว์และของอาตมาภาพแล้ว ขอได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลให้มากขึ้นเถิด จะได้ถึงที่สุด ทุกข์โดยชอบต่อไป ขอถวายพระพร

ข้อที่สังขปาลนาคราช อดกลั้นต่อทุกขเวทนาอันแสบเผ็ดแสนสาหัสได้ ไม่ทำลายศีลในขณะที่พรานหนุ่ม ๑๖ คนมัดหามไปนั้น

ศีลนั้นจัดเป็น ศีลปรมัตถบารมี เพราะรักษาศีลยอมสละชีวิต ไม่ยอมล่วงศีล

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศีลอุปบารมี

พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เป็น พญาจัมไปยกนาคราช

พระเจ้ากรุงอังคติราช ทรงครองราชย์สมบัติ ในแคว้นอังคะ ในระหว่างแคว้นอังคะกับแคว้นมคธนั้น มีแม่น้ำจัมปาเป็นพรมแดน ที่ยอดน้ำจัมปานั้น มีนาคพิภพ พญาจัมไปยกนาคราชครองสมบัติอยู่ในนาคพิภพนั้น ในคราวนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นคนเข็ญใจ ได้เห็นสมบัติพญานาคราช ปรารถนาจะได้สมบัติเช่นนั้น ได้ตั้งใจทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มิได้ขาด พญาจัมไปยกนาคราชทำกาลกิริยาได้ ๗ วัน พระโพธิสัตว์ก็ถึงแก่กรรม ได้ไปบังเกิดในนาคพิภพสมปรารถนา มีร่างกายใหญ่โตสีขาว ปานดังดอกมะลิสดกลับได้ความรำคาญในสมบัตินั้น คิดเห็นไปว่า อิสสริยยศ เช่นนั้น ก็เหมือนอย่างข้าวเปลือกที่เขาเก็บไว้ในฉางนั่นเอง ไม่เห็นมีประโยชน์ อันใด อย่าอยู่เลย ตายเสียดีกว่า จะได้ไปเกิดในภพมนุษย์หรือเทวดาต่อไป และจะได้บำเพ็ญกุศลเพื่อพระโพธิญาณต่อไป คิดเท่านั้นแล้ว ก็เฉย

ฝ่ายนางนาคมาณวิกาทั้งหลาย มีนางสุมนาเทวีเป็นหัวหน้าชักชวนนางนาคทั้งหลาย ได้ช่วยกันบำรุงบำเรอพระโพธิสัตว์ ทำนาคพิภพให้สนุกสนาน ปานประหนึ่งดาวดึงส์พิภพฉะนั้น แต่นั้นมรณจิตของพระโพธิสัตว์ก็เสื่อมคลาย แต่เมื่อหน่ายในเพศนาค จึงแปลงกายเป็นมาณพ ประดับเครื่องอาภรณ์ตามวิสัยแห่งนาค ประทับอยู่ในนาคพิภพเสวยสมบัติอันมโหฬาร

ต่อมาเกิดเบื่อหน่ายสมบัติในนาคพิภพ จึงรักษาอุโบสถศีล ตามดิถีแห่งเดือนในนาคพิภพนั้น เมื่อหมู่นางนาคกัญญามาแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่ ก็ไม่อาจรักษาศีลได้ จึงออกจาปราสาทไปอยู่อุทยาน ก็ไม่อาจรักษาศีลได้อีก จึงออกจากพิภพนาคไปสู่ดินแดนมนุษย์ ตั้งใจสละร่างกายอย่างเด็ดเดี่ยวว่า ใครมีความต้องการอวัยวะของเรา เช่น หนังเป็นต้น ก็จงถือเอาเถิด ใครต้องการจับเอาเราไปเล่นกีฬาก็เชิญเถิด ตั้งใจเช่นนี้แล้ว จึงไปนอนขดอยู่บนจอมปลวกแห่งหนึ่งในแดนมนุษย์แถบปัจจันตคาม รักษาอุโบสถอยู่ คนทั้งหลายในนั้น เห็นพระโพธิสัตว์แล้ว พากันเอาดอกไม้ของหอมไปบูชา บางพวกถึงทำปะรำให้ บางพวกเกลี่ยทรายให้ พากันทำการบูชาเป็นการใหญ่

เมื่อถึงวัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ พระโพธิสัตว์มานอนขดรักษาอุโบสถศีลอยู่จอมปลวกแห่นั้น วันรุ่งขึ้น จึงกลับไปยังนาคพิภพ ต่อมานางสุมนาเทวีจึงทูลถามว่า ในถิ่นมนุษย์นั้นมีภัยรอบด้าน หากใครจับไปได้ หรือใครประหารเสีย หม่อมฉันจะรู้ได้อย่างไร โปรดตรัสบอกอุบายที่จะรู้ได้ แก่หม่อมฉันด้วย พระโพธิสัตว์จึงพานางสุมนาเทวีไปยังสระซึ่งเป็นปากปล่องที่จะขึ้นไปยังมนุษย์โลก แจ้งให้ทราบว่า ถ้าหากว่าใครประหารเราให้ลำบาก น้ำในสระโบกขรณีจะขุ่นมัวทันที ถ้าพญาครุฑจับเราไปได้ น้ำในสระนี้จักเดือดพุ่งขึ้นมาทันที ถ้าหมองูจับเราไปได้ น้ำในสระนี้จะมีสีแดงเป็นเลือด เมื่อได้แจ้งนิมิตนางนาคราชเทวีทราบแล้ว จึงส่งนางกลับ ตนเองก็อธิษฐานอุโบสถศีลตามปกติ

ในคราวนั้น มีมาณพคนหนึ่ง เป็นชาวเมืองพาราณสี ไปเรียน มนต์อาลัมพายน์ ในสำนักทิศาปาโมกข์เมืองตักกศิลา เดินทางกลับมาในทางนั้น ได้เห็นนาคราชมีสีสัณฐ์งดงามเหลือเกิน จึงร่ายมนต์เป่าตรงไป ทำให้พระโพธิสัตว์ร้อนไปทั้งตัว เหมือนถูกเหล็กแดงจี้ ลืมตาดูเห็นพราหมณ์หมองู ถ้าจะพ่นพิษใส่ก็จะตายทันที แต่ศีลด่างพร้อย จึงหลับตานอนขดเฉยอยู่ พราหมณ์หมองูเข้าจับพ่นยาใส่ จับเอามาทำตามชอบใจ เลาะเขี้ยวออก ทุบตัวรีดเหมือนพับผ้า ทำให้หมดฤทธิ์ แต่พระโพธิสัตว์ก็อดกลั้นทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส หมองูก็นำพระโพธิสัตว์ไป พอถึงหมู่บ้านปัจจันตคาม แสดงกีฬางูให้ประชาชนได้ชม ชนทั้งหลายให้ทรัพย์ให้หมองูมากมาย จึงซื้อเกวียนน้อยบรรทุกสิ่งของและนาคราชขับไปถึงเมืองใหญ่ กราบทูลความนั้นแก่พระราชา เขาป่าวประกาศให้ประชาชนทราบว่า เขาจะแสดงกีฬางูที่ท้องสนามหลวง ในท่ามกลางประชาชน มีพระราชาเป็นประมุข

ฝ่ายนางสุมนาเทวี เมื่อพระโพธิสัตว์หายไปเป็นเวลาถึงเดือนแล้ว จึงออกติดตาม เมื่อไปถึงสระโบกขรณี ได้เห็นน้ำในสระเป็นสีแดง ก็รู้ได้ว่าพระโพธิสัตว์ถูกหมองูจับไปแล้ว จึงออกติดตามไปพบกำลังแสดงกีฬางูอยู่ที่ท้องสนามหลวง เมืองพาราณสี ได้แสดงตนให้ปรากฏอยู่ในอากาศ พอเหลือบเห็นนางสุมนาเทวีก็เกิดความละอาย จึงหยุดแสดงทันที แม้หมองูจะทำอย่างไรก็นอนขดเฉยอยู่ พระราชาทรงแปลกพระทัย เหลียวซ้ายแลขวา ได้ทอดพระเนตรเห็นนางสุมนาเทวี จึงตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร ช่างงาม สดใสเหมือนกับสายฟ้า หรือดังดาวรุ่ง ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์หรือเป็นมนุษย์ นางนาคเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า หม่อมฉันไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่มนุษย์ หม่อมฉันเป็นนางนาค ตรัสถามว่า ท่านมีอาการเหมือนคนจิตฟั่นเฟือน ผิวพรรณเศร้าหมอง เบ้าตาก็นองด้วยน้ำตา สิ่งอะไรของท่านหายไปหรือ หรือว่าท่านต้องการสิ่งใด ดูกร นางนาคท่านมาเมืองนี้ทำไม ช่วยบอกให้ทราบด้วย เพื่อจะช่วยท่านได้บ้าง กราบทูลว่า ราชะ มหาชนชาวโลกเรียกร้องสัตว์ใดว่า นาคผู้มีฤทธิ์มาก มีเดชมาก ชายผู้นี้จับนาคตนนั้นมา เพื่อต้องการจะเลี้ยงชีพ นาคราชนั้นแลเป็นสามีของหม่อมฉัน ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้โปรดให้ปล่อยนาคราชนั้น จากที่คุมขังเถิด ขอเดชะ ตรัสว่า ดูกร นางนาค นาคราชนี้ปรากฏว่ามีกำลังแรงกล้า มีฤทธิ์เดชมาก ไฉนจึงมาตกอยู่ในเงื้อมมือหมองูได้เล่า กราบทูลว่า ราชะ นาคราชภัสดาของหม่อมฉันนั้น ปรากฏว่า มีฤทธิ์เดชมาก มีกำลังแรงกล้าจริง อย่าว่าแต่เพียงหมองูคนเดียวเท่านั้นเลย ถึงพระนครนี้ก็สามารถจะทำให้แหลกภายในพริบตาเดียว แต่เพราะเหตุที่นาคราชนั้น เคารพธรรม เคารพศีล เพราะฉะนั้น จึงบำเพ็ญตบะ รักษาอุโบสถศีล อาศัยอยู่ที่จอมปลวกใกล้ทางสี่แพร่ง หมองูพบเข้าจึงจับมาด้วยประสงค์จะหาเลี้ยงชีพ ขอได้โปรดให้ปลดปล่อยด้วยเถิด พระเจ้าข้า และกราบบังคมทูล ขอร้องให้ปล่อยโดยธรรม มิให้หมองูต้องเดือดร้อนแต่ประการใด

พรเจ้ากรุงพาราณสี ตรัสว่า เราจะปล่อยโดยธรรม ปราศจากรรมอันสาหัส ต้องไถ่ตัวนาคราชด้วยบ้านส่วยร้อยตำบล ทองร้อยลิ่ม โคอุสุภะร้อยหนึ่ง ขอให้นาคราชจงเหยียดกายตรงตามสบายเถิด ขอนาคราชผู้ต้องการบุญกุศล จงพ้นจากที่คุมขังเถิด แล้วโปรดให้หมองูรับของพระราชทานและโปรดให้ปล่อยนาคราช

เมื่อนาคราชพ้นจากที่คุมขังแล้วแปลงกายเป็นมาณพ แม้นางสุมนาเทวี ก็ลงจากอากาศแปลงเพศเป็นนางกัญญา ยืนเคียงคู่ประคองอัญชลี ถวายบังคมแทบฝ่าพระบาท กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ขอเชิญเสด็จฝ่าพระบาททอดพระเนตรนาคพิภพ อันเป็นสถานที่อยู่ของข้าพระบาท ตรัสว่า ดูกรนาคราช คำนั้นชอบอยู่ แต่เราเป็นมนุษย์ ท่านเป็นอมนุษย์ เมื่อท่านอ้อนวอนเรา เราก็อยากเห็นพิภพของท่าน แต่เราจะวางใจท่านได้อย่างไร นาคราชโพธิสัตว์จึงถวายปฏิญาณว่า ขอเดชะ ถึงลมจะพัดภูเขาพังทลายก็ดี พระจันทร์ พระอาทิตย์จะพึงแผดเผาแผ่นดินให้แหลกลานก็ดี น้ำในแม่น้ำทั้งหลายจะไหลทวนกระแสก็ดี ภูเขาพระสุเมรุราชจุถอนรากปลิวว่อนก็ดี ข้าพระพุทธเจ้าก็มิกลับคำที่ถวายไว้ แม้เช่นนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสีก็ยังมิทรงเชื่อสนิท แต่ตรัสขอให้นาคราชรู้จักคุณที่พระองค์มีในนาคราชโดยปล่อยจากที่คุมขัง เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดแล้ว ยังจะไม่รู้จักคุณพระองค์อีกหรือ ถ้าเช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็ต้องตกนรกแน่ ในที่สุด พระเจ้ากรุงพาราณสีก็ทรงเชื่อพระโพธิสัตว์สนิท แล้วตรัสว่า สัจจปฏิญาณของท่านนั้น จงเป็นคำสัตย์เสียเถิด ท่านจงอย่ามีความโกรธเป็นเจ้าเรือนเลย และอย่าผูกโกรธ ขอสุบรรณทั้งหลายจงอย่ากล้ำกลายนาคสกุลเลย

พระโพธิสัตว์ทูลชมเชยพระเจ้ากรุงพาราณสีโดยประการต่างๆและช่วยขวนขวายจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย ด้วยนาคานุภาพ ตั้งแต่นั้น กรุงพาราณสีก็มั่งคั่งสมบูรณ์ มีประชาชนมากมาย ทั้งเป็นสุขสบายโดยทั่วกัน ด้วยอำนาจกุศลขันธ์นั้นแล

อุโบสถศีลที่นาคราชจัมไปยกะได้ทรงประพฤตินั้น จัดเป็น ศีลอุปบารมี ด้วยประการดังบรรยายมาฉะนี้