พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เป็น อโยฆรกุมาร
พระเจ้าพรหมทัต ครองกรุงพาราณสี แคว้นกาสี พระอัครมเหสีของพระองค์ ได้เคยมีเวรกับหญิงคนหนึ่ง ซึ่งหญิงนั้นผูกเวรในพระนางไว้ว่า จะไปเกิดในชาติใดภพใดก็ตาม ขอให้ได้กินโอรสของพระนางทุกชาติไป และหญิงคนนั้นก็ไปเกิดเป็นนางยักษิณี บริวารท้าวเวสสุวัน พอพระนางเธอประสูติพระราชโอรส ก็ถูกนางยักษิณีจับไปกินเสีย ในคราวที่พระนางเธอทรงตั้งครรภ์ครั้งที่ ๓ พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประชาชนช่วยกันหาอุบายป้องกัน
มีชายคนหนึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ธรรมดานางยักษิณีนั้น กลัวใบตาล ควรจะนำเอาใบตาลมาผูกไว้ที่พระหัตถ์หรือพระบาทของพระเทวี” ชายอีกคนหนึ่งกราบทูลว่า “ธรรมดาว่ายักษิณีนั้นกลัวเรือนเหล็ก พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนา ตำหนักเหล็กขึ้นในพระราชฐาน โปรดให้พะอัครมเหสีเสด็จเข้าประทับ ณ ตำหนักนั้น เพื่อป้องกันมิให้ยักษิณีมาจับพระโอรสกินเช่นเคย พระเทวีประสูติพระราชโอรสในตำหนักนั้น โดยสวัสดี” ฝ่ายนางยักษิณี ถึงเวรตักน้ำไปถวายเท้าเวสสุวัณ ต้องไปเข้าเวร เลยไปตามเสียในคราวนั้น พระราชทานพระนามพระราชโอรสว่า “อโยฆรกุมาร” โปรดให้ประทับอยู่ในตำหนักเหล็กนั้นสิ้นกาลนาน
เมื่ออโยฆรกุมารได้ครองสมบัติ เสด็จเลียบพระนคร ได้ทอดพระเนตรเห็นส่วนต่าง ๆ ของพระนคร ที่ประดับตกแต่งไว้อย่างวิจิตรบรรจง ตรัสถามอำมาตย์ว่า “เรามีความผิดอะไรหรือ พระชนกจึงโปรดให้ขังเราเสียตั้ง ๑๖ ปี” เมื่อได้ทรงทราบแล้ว จึงทรงพระดำริขึ้นว่า เราอยู่ในพระครรภ์ ๑๐ เดือนก็เหมือนอยู่ในอุสสุทนรก แม้พ้นจากเรือนเหล็กแล้ว ก็มิใช่ว่าจะไม่ต้องไข้ต้องเจ็บต้องตาย ขึ้นชื่อว่า พญามัจจุราชแล้ว ไม่มีใครจะเอาชนะได้เลย ถ้าขืนครองราชย์สมบัติ เราก็จะออกบวชได้ยาก จำจะต้องหาอุบายออกบวชให้ได้ เมื่อได้โอกาส จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานอนุญาต ออกบวชว่า
๑. สัตว์ผู้ถือปฏิสนธิทุกจำนวน เมื่อออกจากท้องแม่แล้ว มีแต่จะรุดหน้าไปหาความแก่ความเจ็บความตาย สัตว์ทั้งมวลล้วนมีความตายเป็นที่สุด นรชนทั้งหลาย จะยกทัพไปต่อรบกับความแก่-เจ็บ-ตายนั้นไม่ได้เป็นอันขาด นรชาติที่ไม่ตายนั้นไม่มีเลย เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๒. พระราชาธิบดี ผู้เป็นอิสระแห่งแคว้นทั้งหลาย ย่อมจะข่มขี่ศัตรูผู้มีจาตุรงคเสนาอันน่าสะพรึงกลัวได้โดยง่าย แต่พระราชาธิบดีพระองค์นั้น ก็ไม่สามารถจะเอาชนะพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๓. พระราชาธิบดี ถูกล้อมด้วยกองช้าง กองม้า กองรถ และกองราบ ก็ยังสามารถปลีกตนให้พ้นจากเงื้อมมือข้าศึกได้ แต่พระราชาธิบดีองค์นั้น ก็ไม่สามารถจะตีหักออกไปให้พ้นเงื้อมมือพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๔. พระราชาธิบดี ผู้ทรงศักดาสามารถ ย่อมจะนำจาตุรงคเสนาทั้ง ๔ เหล่า เข้าหักค่ายทำลายพระนครได้ ทำลายประชาชนได้ แต่พระราชาธิบดีองค์นั้น ก็ไม่สามารถจะทำลายพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๕. ช้างสารที่ซับมัน ไหลเยิ้มอยู่ที่กระพอง ย่อมย่ำยีนครทั้งหลายได้ ย่อมเข่นฆ่าประชาชนได้ แต่ช้างสารนั้นก็ไม่สามารถจะย่ำยีพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๖. นายขมังธนู ฝีมือแม่น ได้ฝึกปรือไว้เป็นอย่างดี มีไหวพริบดี รู้วิธียิงได้แม่นยำไม่ผิดพลาด เปรียบด้วยสายฟ้าแลบ แต่ก็ไม่สามารถจะต้อต้านพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๗. สระทั้งหลายก็แห้งหมดไป แผ่นดินใหญ่กับทั้งเขาหินล้วนพร้อมทั้งป่าไม้ ก็ย่อมเสื่อมไปได้ แม้โลกธาตุเหล่านั้น จะตั้งอยู่ยาวนาน สักเท่าไหร่ก็ตามเถิด ในที่สุดก็ต้องเสื่อมสิ้นไป เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๘. ผ้านุ่งคนขี้เมา ย่อมหลุดลุ่ยลงได้ง่าย ต้นไม้ใกล้ฝั่งก็ไม่ยั่งยืน ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายทั้งชายทั้งหญิง ก็ไม่ยั่งยืนเช่นกัน เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๙. ผลไม้ทั้งหลายที่สุกแล้ว ย่อมหล่นจากต้นตกลงยังพื้นดินฉันใด คนทั้งหลายทั้งชายทั้งหญิง ทั้งหนุ่มทั้งแก่ก็ต้องตายฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๐. พระจันทร์ผู้เป็นราชาแห่งดวงดาวทั้งหลาย เป็นเช่นใด วัยทั้งหลายหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะวัยต้นพ้นไปก็เป็นอันพ้นไปถึงวัยแก่แล้ว ก็จะหาความสนุกสนานมิได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๑. ยักษ์ทั้งหลายผู้มีมหิทธิฤทธิ์ก็ดี ปิศาจก็ดี เปรตก็ดี กำเริบแล้ว เข้าแทรกตามลมหายใจได้ แต่ก็ไม่สามารถจะแทรกสิงพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๒. คนทั้งหลายย่อมเซ่นสรวง บูชา บนบาน พวกยักษ์หรือปิศาจ หรือเปรต ซึ่งกำเริบฤทธิ์ให้อดโทษได้ ให้ยินดีได้ด้วยพลีกรรม แต่คนทั้งหลายจะบวงสรวงพญามัจจุราชได้ ด้วยพลีกรรมมิได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๓. พระราชาทั้งหลาย ทรงทราบโทษผิดโดยแจ้งชัดแล้วย่อมโปรดให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้เป็นขบถต่อพระองค์บ้าง ต่อราชสมบัติบ้าง หรือคนที่เป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้านให้เดือดร้อนบ้าง ตามโทษานุโทษได้ แต่พระราชาทั้งหลายนั้นไมสามารถจะลงอาญาแก่พญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๔. ผู้ผิดฐานประทุษร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินก็ดี ฐานประทุษร้ายต่อราชสมบัติก็ดี ฐานปล้นสะดมก็ดี ย่อมได้ประกาศนิรโทษกรรม หรือพ้นโทษได้ด้วยหลักฐานพยาน หรือพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยโทษ ด้วยพระมหากรุณาได้ แต่หาให้พญามัจจุราชยกโทษให้เช่นนั้นไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๕. พญามัจจุราชมิได้เกรงใจใครว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคนมั่งคั่ง เป็นคนมีกำลัง มีเดช มีอานุภาพมาก ย่อมย่ำยีทั้งหมด เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๖. ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ย่อมเคี้ยวกินสัตว์อื่นให้สะดุ้งด้วยพลการได้ แต่ไมสามารถจะเคี้ยวกินพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๗. นักเล่นกลทั้งหลาย เมื่อกระทำกลมารยาทท่ามกลางสนาม ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่จริงให้เห็นเป็นจริง ลวงตาประชาชนให้หลงเชื่อได้ แต่ไม่สามารถจะลวงพญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๘. อสรพิษทั้งหลาย มีพิษร้ายโกรธแล้วย่อมฉกขบกัดพ่นพิษใส่ ทำให้คนทั้งหลายที่ถูกขบกัดตายได้ แต่ไม่สามารถจะพ่นพิษใส่พญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๑๙. อสรพิษฉกขบกัดแล้ว หมองูอาจถอนพิษได้ แต่หมองูไม่อาจถอนพิษพญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๒๐. นายแพทย์ผู้มีชื่อเสียง เช่น หมอธรรมมันตรี หมอเวตตรุณ หมอโภชา สามารถปรุงยาถอนพิษนาคได้ แต่แพทย์เหล่านั้นก็ต้องนอนตาย กลับพาเอาวิชาตายไปเสียด้วย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
๒๑. วิชาธร หรือเพทยาธรทั้งหลาย เมื่อรายมนต์ชื่อ โฆรมนต์ ย่อมหายตัวไปอยู่ท่ามกลางข้าศึกได้โดยข้าศึกไม่เห็นตัว ด้วยโอสถทั้งหลาย แต่ไม่สามารถจะทำให้พญามัจจุราชไม่เห็นได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอลาบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป
“ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี”
ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว
“น หิ ธมฺโฮ อธมฺโม จ อุโภ สมวิปากิโน
อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคติ”
ธรรมคือบุญ อธรรมคือบาป มีผลไม่เสมอกัน อธรรมนำไปนรก ธรรมนำปสุคติฯ
ครั้นพระบรมโพธิสัตว์ ทรงแสดงธรรมถวายพระบรมชนกนาถ เช่นนี้แล้ว กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ขอราชสมบัติจงเป็นของพระบรมชนกเถิด ข้าพระพุทธเจ้าไม่ต้องการราชสมบัตินั้น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย รอวันรอคืนติดตามข้าพระพุทธเจ้าอยู่ทุกขณะ แม้กำลังกราบทูลอยู่เดี๋ยวนี้ก็ติดตามมาทุกระยะ ขอให้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงเสด็จอยู่ในสุขเถิด ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมลาพระชนก พระชนนี” ออกบวชแล้ว พระบรมโพธิสัตว์ก็เสด็จออกผนวช เปรียบเหมือนช้างซับมัน สลัดตัดเสียซึ่งโซ่ตรวนที่ตกปลอกไว้ แล่นไปในป่าฉะนั้น หรือดุจสีหะโปดกทำลายกรงทรงออกไปฉะนั้น
พระเจ้าพรมทัตผู้พระบรมชนกนาถ ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ทรงพระดำริว่า เราจะอยู่ไปทำไม ราชสมบัติก็ไม่มีประโยชน์แก่เราแล้ว จึงทรงสละราชสมบัติออกผนวช พร้อมกับพระราชโอรสในคราวนั้น มีบริษัทออกบวชตามเสด็จมากมาย ประมาณถึง ๑๒ โยชน์โดยคณา ฝ่ายเท้าสักรินทรเทวราชทรงทราบเช่นนั้น จึงโปรดให้วิสสุกรรมเทพบุตรไปเนรมิตบรรณศาลา ณ ป่าหิมพานต์ พระราชทานแก่ราชฤๅษีเหล่านั้น พระบรมโพธิสัตว์พร้อมด้วยพระบรมชนกนาถและราชบริษัททั้งหลาย เสด็จออกทรงเพศเป็นฤๅษี อาศัยอยู่ ณ บรรณศาลานั้น ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ จนตราบเท่าตลอดชีวิต
การเสด็จออกผนวชของพระบรมโพธิสัตว์อโยฆรกุมารนี้ จัดเป็น “เนกขัมมบารมี” มีนัยดังบรรยายมาฉะนี้