พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เป็น วานร
ในรัชกาลพระเจ้าพรหมทัต ครองกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นวานร มีกำลังวังชามาก มีฝูงวานรแปดหมื่นเป็นบริวารอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีต้นมะม่วงใหญ่ต้นหนึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำคงคา กิ่งแถบหนึ่งยื่นไปในแม่น้ำ มีผลมีรถหอมหวานมาก วานรโพธิสัตว์พากันไปกินผลมะม่วงต้นนี้เป็นประจำ เพื่อป้องกันภัย จึงสั่งให้วานรบริวารปลิดช่อ ปลิดผลทางแถบน้ำให้หมดสิ้น แต่บังเอิญหลงเหลือตาอยู่ เมื่อมะม่วงผลนั้นสุกหล่นลงน้ำ นำพาไปติดตาข่าย พระเจ้ากรุงพาราณสี ซึ่งเสด็จลงสรงในแม่น้ำคงคา พนักงานห้องเครื่องจัดปอกถวาย เมื่อได้เสวยแล้ว ทรงพอพระทัยในรสมะม่วง พระเจ้ากรุงพาราณสี พร้อมเสนาอำมาตย์ราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสด็จโดยทางชลมารค ตราบเท่าถึงต้นมะม่วง ประทับอยู่ป่าหิมพานต์นั้น วานรโพธิกับบริวารกินอยู่บนต้นมะม่วงนั้น มหาดเล็กจัดมะม่วงมาถวายให้เสวยทุกเวลา ตอนกลางคืนพระเจ้าพาราณสี รับสั่งว่า “พรุ่งนี้ให้ไปหาเนื้อลิงมา จะเสวยกับมะม่วง”
วานรโพธิสัตว์ได้ฟังพระดำรัสนั้นอย่างแจ่มชัด เห็นว่าภัยจะมาถึงตนและบริวารของตนแน่แล้ว วานรโพธิสัตว์จึงขึ้นไปจนสุดยอดปลายกิ่ง แถบที่ยื่นออกไปในแม่น้ำ สำรวมใจโดดจนสุดแรง ก็ถึงฝั่งตรงข้ามได้ จึงดึงเอาเถาวัลย์ยาว ๑๐๐ วา เท่าความกว้างของแม่น้ำ เอาข้างหนึ่งผูกเข้าที่ต้นไม้ริมฝั่งในส่วนสูงที่คิดว่าพอดีกัน เอาปลายเถาวัลย์อีกข้างหนึ่งผูกเข้ากับเอวของตน ไต่ออกปลายกิ่ง โดดข้ามกลับมาที่ต้นมะม่วง พอเกาะกิ่งมะม่วงไว้ได้ เถาวัลย์นั้นสั้นเล็กน้อย เธอจึงไม่สามารถปล่อยมือออกได้ ต้องเกาะอยู่เช่นนั้น เอาลำตัวเธอแทนเถาวัลย์ เอาลำตัวเป็นสะพานให้ฝูงลิงบริวารไต่ข้ามไป ฝูงลิงบริวารทั้งหมด พากันทำความเคารพแล้วก็ไต่ไปตามเถาวัลย์นั้น มีลิงอันธพาลตัวหนึ่ง ไม่พอใจพระโพธิสัตว์ที่พร่ำสอน พร่ำแนะนำคอยป้องกันมิให้ทำชั่ว แต่ลิงตัวนั้นกลับไม่ชอบไม่พอใจ เพราะสันดานเป็นอันธพาล เห็นเป็นโอกาสจึงโจนลงเต็มแรงตรงหัวพระโพธิสัตว์ แต่มิเป็นอันตรายแต่อย่างใด เมื่อฝูงลิงบริวารข้ามไปหมดแล้ว วาสรโพธิสัตว์ผู้เป็นจ่าฝูงก็อ่อนแรงเกาะเฉยอยู่
ฝ่ายพระเจ้าพาราณสี ทอดพระเนตรเห็นพฤติการณ์นั้นโดยตลอด โปรดให้มหาดเล็กขึ้นไปนำลิงโพธิสัตว์ลงชำระร่างกายให้สะอาด ให้อาหาร พอให้มีกำลังแล้วจึงโปรดให้นำมาสู่ที่เฝ้า ตรัสถามว่า “เจ้าเป็นผู้มีกำลังวังชามากมาย ทำไมไม่เอาตัวรอดหนีไปตามลำพัง ซ้ำยังทำตนให้เป็นสะพานให้บริวารไต่ข้ามไปโดยสวัสดี ท่านเป็นอะไรกับวานรเหล่านั้น”
พระโพธิสัตว์กราบทูลเป็นเชิงถวายโอวาทพระเจ้ากรุงพาราณสีว่า “ขอเดชะ พระองค์ผู้ปราบข้าศึก ข้าพระพุทธเจ้าเป็นนายเขา เป็นหัวหน้าเขาปกครองเขา เมื่อฝูงวานรเป็นทุกข์เป็นร้อนอยู่ กลัวพระองค์จะทรงทำอันตราย ข้าพระพุทธเจ้าจึงต้องทำตัวดังที่ได้ทอดพระเนตรเห็นนั้น เพื่อให้เขาเหล่านั้นพ้นภัย ข้าพระพุทธเจ้าแม้จะต้องถูกจับไปจองจำหรือถูกประหารชีวิต ก็ยินดีรับโดยมิต้องเดือดร้อนอย่างใด เพราะเขาเหล่านั้น ได้ยอมยกให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นหัวหน้าเขา เป็นนายฝูง ก็ด้วยหวังว่าข้าพระพุทธเจ้าจะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เขาได้ โดยทั่วหน้ากัน เหมือนอย่างพระองค์นี้แหละ พระองค์ทรงเป็นพระราชามหากษัตริย์ ผู้ทรงพระปรีชา พระองค์ก็ต้องแสวงหาความสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์ ตลอดถึงสัตว์ พาหนะนักรบทั่วหน้า หากพระองค์จะเสวยสุขเหนือความทุกข์ยากของพสกนิกรจะเป็นการสมควรหรือ พระองค์ก็ต้องทรงช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรทั่วหน้า”
เมื่อวานรโพธิสัตว์ถวายโอวาทเช่นนั้น ด้วยความบอบช้ำทนไม่ไหว ก็สิ้นชีวิตไปในขณะนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงเสียพระทัยมาก แต่สุดวิสัยโปรดให้จัดการศพพญาวานรนั้น แม้นด้วยศพของพระราชาผู้ครองแคว้น โปรดให้นำอัฐิไปบรรจุไว้ในเจดีย์ ที่โปรดให้สร้างขึ้นในทางสี่แพร่ง เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีของผู้เป็นหัวหน้าของคนทั้งหลายต่อไป
ศีลตามที่กล่าวมานี้ จัดเป็น “ศีลบารมี”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น