วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศีลอุปบารมี

พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เป็น พญาจัมไปยกนาคราช

พระเจ้ากรุงอังคติราช ทรงครองราชย์สมบัติ ในแคว้นอังคะ ในระหว่างแคว้นอังคะกับแคว้นมคธนั้น มีแม่น้ำจัมปาเป็นพรมแดน ที่ยอดน้ำจัมปานั้น มีนาคพิภพ พญาจัมไปยกนาคราชครองสมบัติอยู่ในนาคพิภพนั้น ในคราวนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นคนเข็ญใจ ได้เห็นสมบัติพญานาคราช ปรารถนาจะได้สมบัติเช่นนั้น ได้ตั้งใจทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มิได้ขาด พญาจัมไปยกนาคราชทำกาลกิริยาได้ ๗ วัน พระโพธิสัตว์ก็ถึงแก่กรรม ได้ไปบังเกิดในนาคพิภพสมปรารถนา มีร่างกายใหญ่โตสีขาว ปานดังดอกมะลิสดกลับได้ความรำคาญในสมบัตินั้น คิดเห็นไปว่า อิสสริยยศ เช่นนั้น ก็เหมือนอย่างข้าวเปลือกที่เขาเก็บไว้ในฉางนั่นเอง ไม่เห็นมีประโยชน์ อันใด อย่าอยู่เลย ตายเสียดีกว่า จะได้ไปเกิดในภพมนุษย์หรือเทวดาต่อไป และจะได้บำเพ็ญกุศลเพื่อพระโพธิญาณต่อไป คิดเท่านั้นแล้ว ก็เฉย

ฝ่ายนางนาคมาณวิกาทั้งหลาย มีนางสุมนาเทวีเป็นหัวหน้าชักชวนนางนาคทั้งหลาย ได้ช่วยกันบำรุงบำเรอพระโพธิสัตว์ ทำนาคพิภพให้สนุกสนาน ปานประหนึ่งดาวดึงส์พิภพฉะนั้น แต่นั้นมรณจิตของพระโพธิสัตว์ก็เสื่อมคลาย แต่เมื่อหน่ายในเพศนาค จึงแปลงกายเป็นมาณพ ประดับเครื่องอาภรณ์ตามวิสัยแห่งนาค ประทับอยู่ในนาคพิภพเสวยสมบัติอันมโหฬาร

ต่อมาเกิดเบื่อหน่ายสมบัติในนาคพิภพ จึงรักษาอุโบสถศีล ตามดิถีแห่งเดือนในนาคพิภพนั้น เมื่อหมู่นางนาคกัญญามาแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่ ก็ไม่อาจรักษาศีลได้ จึงออกจาปราสาทไปอยู่อุทยาน ก็ไม่อาจรักษาศีลได้อีก จึงออกจากพิภพนาคไปสู่ดินแดนมนุษย์ ตั้งใจสละร่างกายอย่างเด็ดเดี่ยวว่า ใครมีความต้องการอวัยวะของเรา เช่น หนังเป็นต้น ก็จงถือเอาเถิด ใครต้องการจับเอาเราไปเล่นกีฬาก็เชิญเถิด ตั้งใจเช่นนี้แล้ว จึงไปนอนขดอยู่บนจอมปลวกแห่งหนึ่งในแดนมนุษย์แถบปัจจันตคาม รักษาอุโบสถอยู่ คนทั้งหลายในนั้น เห็นพระโพธิสัตว์แล้ว พากันเอาดอกไม้ของหอมไปบูชา บางพวกถึงทำปะรำให้ บางพวกเกลี่ยทรายให้ พากันทำการบูชาเป็นการใหญ่

เมื่อถึงวัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ พระโพธิสัตว์มานอนขดรักษาอุโบสถศีลอยู่จอมปลวกแห่นั้น วันรุ่งขึ้น จึงกลับไปยังนาคพิภพ ต่อมานางสุมนาเทวีจึงทูลถามว่า ในถิ่นมนุษย์นั้นมีภัยรอบด้าน หากใครจับไปได้ หรือใครประหารเสีย หม่อมฉันจะรู้ได้อย่างไร โปรดตรัสบอกอุบายที่จะรู้ได้ แก่หม่อมฉันด้วย พระโพธิสัตว์จึงพานางสุมนาเทวีไปยังสระซึ่งเป็นปากปล่องที่จะขึ้นไปยังมนุษย์โลก แจ้งให้ทราบว่า ถ้าหากว่าใครประหารเราให้ลำบาก น้ำในสระโบกขรณีจะขุ่นมัวทันที ถ้าพญาครุฑจับเราไปได้ น้ำในสระนี้จักเดือดพุ่งขึ้นมาทันที ถ้าหมองูจับเราไปได้ น้ำในสระนี้จะมีสีแดงเป็นเลือด เมื่อได้แจ้งนิมิตนางนาคราชเทวีทราบแล้ว จึงส่งนางกลับ ตนเองก็อธิษฐานอุโบสถศีลตามปกติ

ในคราวนั้น มีมาณพคนหนึ่ง เป็นชาวเมืองพาราณสี ไปเรียน มนต์อาลัมพายน์ ในสำนักทิศาปาโมกข์เมืองตักกศิลา เดินทางกลับมาในทางนั้น ได้เห็นนาคราชมีสีสัณฐ์งดงามเหลือเกิน จึงร่ายมนต์เป่าตรงไป ทำให้พระโพธิสัตว์ร้อนไปทั้งตัว เหมือนถูกเหล็กแดงจี้ ลืมตาดูเห็นพราหมณ์หมองู ถ้าจะพ่นพิษใส่ก็จะตายทันที แต่ศีลด่างพร้อย จึงหลับตานอนขดเฉยอยู่ พราหมณ์หมองูเข้าจับพ่นยาใส่ จับเอามาทำตามชอบใจ เลาะเขี้ยวออก ทุบตัวรีดเหมือนพับผ้า ทำให้หมดฤทธิ์ แต่พระโพธิสัตว์ก็อดกลั้นทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส หมองูก็นำพระโพธิสัตว์ไป พอถึงหมู่บ้านปัจจันตคาม แสดงกีฬางูให้ประชาชนได้ชม ชนทั้งหลายให้ทรัพย์ให้หมองูมากมาย จึงซื้อเกวียนน้อยบรรทุกสิ่งของและนาคราชขับไปถึงเมืองใหญ่ กราบทูลความนั้นแก่พระราชา เขาป่าวประกาศให้ประชาชนทราบว่า เขาจะแสดงกีฬางูที่ท้องสนามหลวง ในท่ามกลางประชาชน มีพระราชาเป็นประมุข

ฝ่ายนางสุมนาเทวี เมื่อพระโพธิสัตว์หายไปเป็นเวลาถึงเดือนแล้ว จึงออกติดตาม เมื่อไปถึงสระโบกขรณี ได้เห็นน้ำในสระเป็นสีแดง ก็รู้ได้ว่าพระโพธิสัตว์ถูกหมองูจับไปแล้ว จึงออกติดตามไปพบกำลังแสดงกีฬางูอยู่ที่ท้องสนามหลวง เมืองพาราณสี ได้แสดงตนให้ปรากฏอยู่ในอากาศ พอเหลือบเห็นนางสุมนาเทวีก็เกิดความละอาย จึงหยุดแสดงทันที แม้หมองูจะทำอย่างไรก็นอนขดเฉยอยู่ พระราชาทรงแปลกพระทัย เหลียวซ้ายแลขวา ได้ทอดพระเนตรเห็นนางสุมนาเทวี จึงตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร ช่างงาม สดใสเหมือนกับสายฟ้า หรือดังดาวรุ่ง ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์หรือเป็นมนุษย์ นางนาคเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า หม่อมฉันไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่มนุษย์ หม่อมฉันเป็นนางนาค ตรัสถามว่า ท่านมีอาการเหมือนคนจิตฟั่นเฟือน ผิวพรรณเศร้าหมอง เบ้าตาก็นองด้วยน้ำตา สิ่งอะไรของท่านหายไปหรือ หรือว่าท่านต้องการสิ่งใด ดูกร นางนาคท่านมาเมืองนี้ทำไม ช่วยบอกให้ทราบด้วย เพื่อจะช่วยท่านได้บ้าง กราบทูลว่า ราชะ มหาชนชาวโลกเรียกร้องสัตว์ใดว่า นาคผู้มีฤทธิ์มาก มีเดชมาก ชายผู้นี้จับนาคตนนั้นมา เพื่อต้องการจะเลี้ยงชีพ นาคราชนั้นแลเป็นสามีของหม่อมฉัน ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้โปรดให้ปล่อยนาคราชนั้น จากที่คุมขังเถิด ขอเดชะ ตรัสว่า ดูกร นางนาค นาคราชนี้ปรากฏว่ามีกำลังแรงกล้า มีฤทธิ์เดชมาก ไฉนจึงมาตกอยู่ในเงื้อมมือหมองูได้เล่า กราบทูลว่า ราชะ นาคราชภัสดาของหม่อมฉันนั้น ปรากฏว่า มีฤทธิ์เดชมาก มีกำลังแรงกล้าจริง อย่าว่าแต่เพียงหมองูคนเดียวเท่านั้นเลย ถึงพระนครนี้ก็สามารถจะทำให้แหลกภายในพริบตาเดียว แต่เพราะเหตุที่นาคราชนั้น เคารพธรรม เคารพศีล เพราะฉะนั้น จึงบำเพ็ญตบะ รักษาอุโบสถศีล อาศัยอยู่ที่จอมปลวกใกล้ทางสี่แพร่ง หมองูพบเข้าจึงจับมาด้วยประสงค์จะหาเลี้ยงชีพ ขอได้โปรดให้ปลดปล่อยด้วยเถิด พระเจ้าข้า และกราบบังคมทูล ขอร้องให้ปล่อยโดยธรรม มิให้หมองูต้องเดือดร้อนแต่ประการใด

พรเจ้ากรุงพาราณสี ตรัสว่า เราจะปล่อยโดยธรรม ปราศจากรรมอันสาหัส ต้องไถ่ตัวนาคราชด้วยบ้านส่วยร้อยตำบล ทองร้อยลิ่ม โคอุสุภะร้อยหนึ่ง ขอให้นาคราชจงเหยียดกายตรงตามสบายเถิด ขอนาคราชผู้ต้องการบุญกุศล จงพ้นจากที่คุมขังเถิด แล้วโปรดให้หมองูรับของพระราชทานและโปรดให้ปล่อยนาคราช

เมื่อนาคราชพ้นจากที่คุมขังแล้วแปลงกายเป็นมาณพ แม้นางสุมนาเทวี ก็ลงจากอากาศแปลงเพศเป็นนางกัญญา ยืนเคียงคู่ประคองอัญชลี ถวายบังคมแทบฝ่าพระบาท กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ขอเชิญเสด็จฝ่าพระบาททอดพระเนตรนาคพิภพ อันเป็นสถานที่อยู่ของข้าพระบาท ตรัสว่า ดูกรนาคราช คำนั้นชอบอยู่ แต่เราเป็นมนุษย์ ท่านเป็นอมนุษย์ เมื่อท่านอ้อนวอนเรา เราก็อยากเห็นพิภพของท่าน แต่เราจะวางใจท่านได้อย่างไร นาคราชโพธิสัตว์จึงถวายปฏิญาณว่า ขอเดชะ ถึงลมจะพัดภูเขาพังทลายก็ดี พระจันทร์ พระอาทิตย์จะพึงแผดเผาแผ่นดินให้แหลกลานก็ดี น้ำในแม่น้ำทั้งหลายจะไหลทวนกระแสก็ดี ภูเขาพระสุเมรุราชจุถอนรากปลิวว่อนก็ดี ข้าพระพุทธเจ้าก็มิกลับคำที่ถวายไว้ แม้เช่นนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสีก็ยังมิทรงเชื่อสนิท แต่ตรัสขอให้นาคราชรู้จักคุณที่พระองค์มีในนาคราชโดยปล่อยจากที่คุมขัง เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดแล้ว ยังจะไม่รู้จักคุณพระองค์อีกหรือ ถ้าเช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็ต้องตกนรกแน่ ในที่สุด พระเจ้ากรุงพาราณสีก็ทรงเชื่อพระโพธิสัตว์สนิท แล้วตรัสว่า สัจจปฏิญาณของท่านนั้น จงเป็นคำสัตย์เสียเถิด ท่านจงอย่ามีความโกรธเป็นเจ้าเรือนเลย และอย่าผูกโกรธ ขอสุบรรณทั้งหลายจงอย่ากล้ำกลายนาคสกุลเลย

พระโพธิสัตว์ทูลชมเชยพระเจ้ากรุงพาราณสีโดยประการต่างๆและช่วยขวนขวายจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย ด้วยนาคานุภาพ ตั้งแต่นั้น กรุงพาราณสีก็มั่งคั่งสมบูรณ์ มีประชาชนมากมาย ทั้งเป็นสุขสบายโดยทั่วกัน ด้วยอำนาจกุศลขันธ์นั้นแล

อุโบสถศีลที่นาคราชจัมไปยกะได้ทรงประพฤตินั้น จัดเป็น ศีลอุปบารมี ด้วยประการดังบรรยายมาฉะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น