วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คำว่า “บารมี” มีความหมายได้หลายประการ ในที่นี้จะยกมาพอเป็นตัวอย่างสัก 7 ประการ

คำว่า บารมี มีความหมายได้หลายประการ ในที่นี้จะยกมาพอเป็นตัวอย่างสัก 7 ประการ

๑. บารมี หมายความว่า ปราบข้าศึก ดังมีหลักฐานรับรองไว้ว่า

ปรํ ปจฺจนีกํ มาเรตีติ ปารมี

ความดี ชื่อว่า บารมี เพราะอรรถว่า ปราบข้าศึก คือยิงข้าศึกให้ตายฯ บารมีโดยใจความ ก็ได้แก่บุญ นั่นเอง

ข้าศึกในที่นี้ ได้แก่ ความชั่วคือบาปทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ เรียกว่า กิเลส กิเลสนั้นมีอยู่ ๓ ชั้น คือ กิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียด

กิเลสหยาบ ล่วงออกมาทางกายกับทางวาจา ปราบด้วยบารมี คือ ศีล ๕-๘-๑๐-๒๒๗

กิเลสกลาง ล่วงออกมาทางใจ ได้แก่ นิวรณ์ทั้ง ๕ มีกามฉันทะ พอใจในกามคุณ ๕ เป็นต้น ปราบด้วยบารมี คือ สมาธิ

กิเลสละเอียด นอนดองอยู่ในขันธสันดานของแต่ละบุคคล ดุจขี้ตะกอนอยู่ก้นตุ่ม หรือดุจยางที่ต้นโพธิ์ ปราบด้วยบารมี คือ ปัญหา

๒. บารมี หมายความว่า ยินดีในการสร้างความ ดังมีหลักฐาน

ปกฎฺฐภาเวน รมตีติ ปารมี

ชื่อว่า บารมี เพราะอรรถว่า ยินดีในการสร้างความดีฯ

ความดีในที่นี้ ได้แก่ ความดีขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูง หรืออีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ความดีขั้นกามาวจร ขั้นรูปาวจร ขั้นโลกุตตระ

ลักษณะของคนใจใหญ่ ใจสูง นั้น ต้องเป็นผู้นิยมพอใจยินดีแต่ละบุญกุศล โดยหวังผลอันสูงส่งจริง ๆ จะพึงเห็นได้จากกองคุณของคนใจใหญ่ ใจสูง ดังต่อไปนี้คือ

๑. ทมะ หมั่นฝึกอบรมตนอยู่เสมอ ๆ ไม่ประมาท ไม่นอนใจในการสร้างความดี

๒. สังยมะ มีความสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่เสมอ เพื่อมิให้ บาป อกุศล เกิดขึ้นทางนี้

๓. ขันติ มีความอดทนดี คือ ทนลำยาก ทนกรากกรำ ทนเจ็บใจ

๔. สังวร มีความระมัดระวัง กาย วาจา ใจ ให้อยู่ในทำนองคลองธรรมเป็นอันดี

๕. นิยม นิยมการสร้างความดี คือ บุญกุศล นิยมสร้างประโยชน์ ทั้ง ๓

๖. อโกธะ ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาท อาฆาตจองเวรใคร ๆ เลย

๗. อวิหิงสา ไม่มีจิตคิดเบียดเบียนใคร และไม่ยอมเบียดเบียนใคร ๆ

๘. สัจจะ ตั้งมั่น ยึดมั่นอยู่ในสัจจะ คือ พูดจริง ทำจริง ซื่อสัตย์

๙. โสเจยยะ มีความสะอาด กาย วาจา ใจ

๑๐.เมตเตยยะ มีเมตตปราณี เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่แก่สรรสัตว์ ทุกถ้วนหน้า

๓. บารมี หมายความว่า รักษาความเป็นผู้สูงสุดของตนไว้ ดังมีหลักฐานรับรองได้ว่า

ปรมสฺส อตฺตโน อุตตมภาวํ ปาเลตีติ ปารมี

ชื่อว่า บารมี เพราะอรรถว่า รักษาความเป็นผู้ยอดเยี่ยมสูงสุดของตนไว้ฯ

ได้แก่ รักษาศักดิ์ศรี คือ ความเป็นผู้ดีของตนไว้ มิให้ตกไปในฝ่ายต่ำ พยายามเดินทางไปมนุษย์ ทางไปสวรรค์ ทางไปพรหมและทางไปนิพพานอยู่เสมอ

๔. บารมี หมายความว่า ยังความเป็นผู้สูงสุดของตนให้เต็มเปี่ยม ดังมีหลักฐานรับรองไว้ว่า

ปรมสฺส อตฺตโน อุตฺตมภาวํ ปูเรตีติ ปารมี

ชื่อว่า บารมี เพราะอรรถว่า ยังความเป็นผู้สูงสุดของตนให้เต็มเปี่ยมฯ

อธิบายว่า ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา ขันติ วิริยะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา เหล่านี้ยังไม่เต็มเปี่ยมในขันธสันดานของตน จึงต้องเวียนวนอยู่ในวัฏสงสาร ผู้ที่กำลังบำเพ็ญคุณงามความดีเหล่านี้ให้เต็มเปี่ยม เพื่อรื้อตนออกจากกิเลสและกองทุกข์ จึงนิยมเรียกว่า ผู้สร้างบารมี

๕. บารมี หมายความว่า สามารถ คือ สามารถระงับความเดือดร้อน ความทุกข์ ในวัฏสงสารได้ ดังมี หลักฐานรับรองไว้ว่า

สกฺโกติ สํสารทุกฺขสนฺตปํ สเมตุนฺติ ปารมี

ชื่อว่า บารมี เพราะอรรถว่า สามารถสงบระงับดับความทุกข์ ดับความเดือดร้อน ในวัฏสงสารได้ฯ

อธิบายว่า สรรสัตว์พากันได้รับความทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะบารมียังอ่อน ถ้าผู้ใดบารมีแก่กล้า ผู้นั้นก็อยู่เย็นเป็นสุข หายทุกข์ หายโศก หายโรค หายภัย ไม่มีอุปสรรคอันตรายใด ๆ มารบกวน เบียดเบียน ย่ำยีบีฑาได้ เพราะบารมีของผู้นั้นตัดทอน ทำลายต้นตอของความทุกข์ ต้นตอของความเดือดร้อนเสียได้แล้ว

๖. บารมี หมายความว่า ยอดเยี่ยม ดังมีหลักฐานรับรองไว้ว่า

ปรมสฺส อุตฺตมสฺส โพธิสตฺตสฺส ภาโวติ ปารมี

ชื่อว่า บารมี เพราะอรรถว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ยอดเยี่ยม คือ สูงสุดได้ ต้องอาศัยสร้างบารมีให้ครบ ๓๐ ทัศก่อนฯ

อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ คือผู้ที่ยังข้องอยู่ในข่ายแห่งการตรัสรู้ ได้แก่ ผู้มีปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ต้องสร้างบารมีให้ครบ ให้เต็มเปี่ยม ให้บริบูรณ์ทั้ง ๓๐ ทัศก่อน จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถึงความเป็นผู้ประเสริฐเลิศที่สุดในโลก เป็นครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ดังนั้น บารมีจึงมีความหมายว่า ยอดเยี่ยม คือ ทำผู้สร้างบารมีให้ดีเด่น ยอดเยี่ยม เลิศ ประเสริฐสูงสุด

๗. บารมี หมายความว่า การกระทำของท่านผู้ประเสริฐ ดังมีหลักฐานรับรองไว้ว่า

ปรมสฺส อุตฺตมสฺส โพธิสตฺตสฺส กมฺมนฺติ ปารมี

ชื่อว่า บารมี เพราะอรรถว่า การสร้างความดีของคนดี คือ พระโพธิสัตว์ ผู้ประเสริฐสูงสุดฯ

อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ทุก ๆ พระองค์จะต้องสร้างความดี บำเพ็ญกรรมดี คือ ให้ทาน รักษาศีล ออกบวช มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความขยันหมั่นเพียร เป็นพิเศษ และมีความอดทนเป็นยอดเยี่ยม เป็นต้น เรียกว่า สร้างบารมี เพื่อหนีจากกิเลสและกองทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือ มรรค ผลนิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น